88 ปี ‘ธรรมศาสตร์’

88 ปี ‘ธรรมศาสตร์’ อธิการ ลั่น มั่นคงปรัชญาเสรีภาพการศึกษา

เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ครบรอบ 88 ปี เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2565 ซึ่งได้จัดงานที่หอประชุมใหญ่ มธ.ท่าพระจันทร์ และมีพิธีมอบเข็มเกียรติยศประจำปี 2565 ให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์

โอกาสนี้ นายสมคิด ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “88 ปี ธรรมศาสตร์กับสังคมไทย” โดยบอกเล่าถึงเส้นทางการเมืองที่ผ่านมา จนอายุจะครบ 69 ปี โดยใช้เวลากว่า 20 ปีบนเส้นทางการเมือง และกว่า 10 ปีอยู่ในตำแหน่งในรัฐบาล

ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจเลือกเดินเส้นทางนี้ แต่มีบางสิ่งชี้นำ ผลักดันชีวิต นั่นคือประสบการณ์ชีวิต 4 ปีในรั้ว มธ. ช่วงปี 2516-2519 เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความตื่นตัวทางการเมือง ทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ มีกิจกรรมคึกคัก ยิ่งเมื่อนักศึกษาได้ร่วมชุมนุมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในช่วง 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ก็ยิ่งทำให้จิตสำนึกร่วมมั่นคง จนมีจุดร่วมคือ จิตสาธารณะที่คำนึงถึงประโยชน์ของบ้านเมือง

มาถึงวันนี้ มธ.ก้าวมาถึงปีที่ 88 แล้ว บางยุคบางสมัย บริบทในรั้วมหาวิทยาลัย สุกงอมสมบูรณ์ และเข้มข้น จนสามารถสร้างบุคลากรที่มุ่งมั่น มีแรงบันดาลใจ ที่ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมภายนอก

บริบทบ้านเมืองในอดีต หล่อหลอมให้จิตวิญญาณ มธ.เน้นหนักในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และความเป็นเสรี และการต่อสู้นั้น ก็กลายเป็นตำนานเล่าขาน แต่หากเรามองไปข้างหน้า กับปัญหาใหม่ๆ ที่บ้านเมืองกำลังเผชิญ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้จะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่คงไม่เพียงพอกับการที่จะช่วยให้ลูกหลานเราได้มาซึ่งอนาคตที่ดีกว่า

“แม้แต่ประชาธิปไตยที่ชาวธรรมศาสตร์ พยายามต่อสู้มาตลอด 88 ปี ผมว่าชาวธรรมศาสตร์คงจินตนาการไปไม่ถึง และคงไม่ต้องการเห็นประชาธิปไตยในเวอร์ชั่นแจกกล้วยเป็นหวี อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่อายฟ้าดินอย่างที่เป็นข่าว และถูกใช้เพียงเพื่อเป็นเกราะในการแสวงประโยชน์ทางการเมือง”

ชาวธรรมศาสตร์คงไม่ต้องการให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ที่เพียงเอื้ออำนวยให้คนเพียง 1% แต่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ของประเทศมากกว่า 60% ขณะที่คนไทย 99% เป็นเจ้าของสินทรัพย์เพียงกว่า 30% เท่านั้น หรือประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบให้สร้างความไม่เท่าเทียมทางการเมือง ซึ่งวันหนึ่งอาจนำไปสู่วิกฤติการเมืองครั้งใหญ่ได้ หรือเราจะพอใจกับประชาธิปไตยแบบนี้

เด็กรุ่นใหม่นั้น เขารับไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีไฟ แต่เขาไม่สนใจที่จะต่อสู้ เพื่อสิ่งที่เขาคิดว่าไม่ใช่ เขาจะหันหลังให้เสียด้วยซ้ำ แต่พวกเขาจะกลับมามีความกระตือรือร้น หากเป็นการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เขาต้องการ

ผมเคยถามคนรุ่นใหม่ เขาเรียกประชาธิปไตยว่า 4 Second democracy แค่ 4 นาทีที่คุณหย่อนบัตร หลังจากนั้นก็หมดไป แต่เขาต้องการสู้ให้ได้มาซึ่ง Deliberative democracy ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น ได้ร่วมถกแถลงในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ หาข้อสรุปเพื่อโน้มน้าวกลุ่มผู้เห็นต่าง นั่นคือสิ่งที่จะทำให้พวกเขา มีแรงบันดาลใจในการต่อสู้ และเข้าร่วมอย่างแข็งขัน

“เราต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ไปถึงจุดนั้น จุดที่ประชาธิปไตยเป็นของปวงชน ไม่ใช่ของกลุ่มการเมืองไม่กี่กลุ่ม หรือครอบครัวไม่กี่ตระกูล”

ที่สำคัญ ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่มิติเดียว ที่เราอยากให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้าไปต่อสู้ หรือมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน แต่ยังมีอีกหลายมิติที่พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญอันยิ่งใหญ่ ในการสร้างกระแสคลื่นแห่งการขับเคลื่อน เพื่อแก้ไข และสร้างอนาคตที่ดีกว่า เพื่อพวกเขาเอง

วันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 88 ปี

นายสมคิด ระบุด้วยว่า ในทางเศรษฐกิจ ยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีปัญหา และจะรุนแรงขึ้น ทั้งภาวะชะงักงัน และการทะยานของระดับราคา โครงสร้างเศรษฐกิจบ้านเรา ที่อิงหนักมากกับปัจจัยภายนอก ส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศ ย่อมถูกกระทบแน่นอน และจะส่งผลถึงการเติบโต และการสร้างรายได้ของคนในประเทศ

หากเรายังไม่เร่งดำเนินรอยตามคำสอนของในหลวงท่าน ที่ให้ระเบิดจากภายใน นั่นคือ สร้างความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้เกิดการขยายตัว สร้างงานสร้างรายได้ ควบคู่การอาศัยแรงหนุนจากภายนอก การเปลี่ยนแปลงโหมดแห่งการพัฒนา ต้องการพลังที่ยิ่งใหญ่เข้าไปช่วยขับเคลื่อนในภาคชนบท ขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการ

ดัชนีความสามารถแข่งขันของประเทศ ที่ลดลงแบบฮวบฮาบอย่างไม่เคยปรากฏ ที่ความสามารถด้านเศรษฐกิจจะลดลงทีเดียว 13 จุด ประสิทธิภาพรัฐบาลลดฮวบ ปีเดียวถึง 11 จุด ประสิทธิภาพภาคเอกชนลดลงถึง 9 จุด สะท้อนความเป็นจริงว่า เราอ่อนแอลงแค่ไหนในเวลาอันสั้น ไม่มีใครสนใจ ทั้งที่เรื่องนี้จะส่งผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ในระยะเวลาอันใกล้

จากสถานภาพที่ยากลำบากในการดำรงชีพ และหนี้สินที่เพิ่มทวีของประชาชน หลังการแพร่ระบาดของโควิด ชนชั้นกลาง และระดับฐานรากของประเทศตกอยู่ในภาวะที่ไม่มั่นคง และสุ่มเสี่ยงต่อสถานะการดำรงชีพในอนาคต โดยไม่มีหลักประกัน เกษตรกร และเกษตรกรรมของประเทศ กำลังเผชิญกับความผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ ของสภาวะอากาศ และภัยธรรมชาติ

แรงงานทั้งระบบ ไม่อาจหลีกเลี่ยง การถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ ขณะที่การเตรียมการเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ยังไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอ

ปัญหาเหล่านี้ทุกคนทราบ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองที่เพียงพอ ทั้งที่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศเริ่มเผชิญกับมันแล้ว ยังไม่นับความไม่เท่าเทียมด้านสังคมอื่นๆ

ภารกิจและบทบาทหน้าที่จะแก้ไขนั้นเป็นของใคร ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ สั่งสมนานขนาดนี้ รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยแบบ 4 วินาทีที่เห็นนี้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะข้อจำกัดมันมาก แล้วถ้าทำไม่ได้ ประชาชนคือผู้รับเคราะห์

ในเมื่อบริบทยังมีปัญหาอยู่ เราจะมัวรอภาครัฐคงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ไข และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสถาบันศึกษา ที่จากนี้ไป จะไม่สามารถอยู่อย่างแยกส่วนกับปัญหาบ้านเมืองได้อีกแล้ว

สถาบันศึกษาเป็นบ่อเกิดของความรู้และปัญญา ทรัพยากรจึงต้องจัดสรรและขับเคลื่อน ให้ได้ปัญญาที่แท้จริง ที่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้

สถาบันการศึกษายังเป็นแหล่งผลิตบุคลากร ที่ต้องตระเตรียมสร้างบุคลากรในสาขาที่บ้านเมืองต้องการ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้

ที่สำคัญที่สุด ต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการปลูกฝังจิตสำนึกและแรงบันดาลใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนแก้ไข และกอบกู้ในหลากหลายมิติ

สถาบันศึกษาสามารถกระตุ้นส่งเสริม และปลูกฝังให้นักศึกษา เป็นผู้นำในบทบาทแห่งการขับเคลื่อนได้ตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งในมิติ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และต้องให้จิตวิญญาณนี้แพร่ขยายออกไปให้สังคม สร้างความตื่นตัว และร่วมมือในวงกว้าง คู่ขนานไปกับบทบาทภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรง

นี่คือบทบาทของธรรมศาสตร์และจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ที่จะต้องก้าวนำการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงปฏิรูปบ้านเมืองในยุคข้างหน้า เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้คนไทย

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ marriagecelebrant.net

UFA Slot

Releated